Reform Bills; Reform Acts (-)

กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา (-)

กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเป็นกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งและเพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของอังกฤษ ซึ่งหมายถึงกฎหมายสำคัญ ๓ ฉบับ ฉบับแรกคือ ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ ซึ่งทำให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งครอบคลุมชนชั้นกลางระดับบน ฉบับที่ ๒ ออกใน ค.ศ. ๑๘๖๗ ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ชนชั้นแรงงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองเป็นครั้งแรก และฉบับที่ ๓ ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ได้ขยายการให้สิทธิครอบคลุมคนงานเหมืองและแรงงานในชนบทซึ่งมีผลให้ผู้ชายอังกฤษเกือบทั้งหมดได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งกันทั่วหน้า สาระสำคัญของฉบับแรกเป็นการโอนย้าย สิทธิเก่าแก่ของเขตเลือกตั้งเล็ก ๆ ที่อยู่ใต้อิทธิพลของขุนนางหรือเจ้าของที่ดินไปยังเขตเมืองอุตสาหกรรมที่มีประชากรหนาแน่น ส่วน ๒ ฉบับหลังเป็นการสร้างระบบการเลือกผู้แทนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในแวดวงชนชั้นของบรรดาผู้ถือครองทรัพย์สินแต่ให้ขยายสิทธิไปครอบคลุมผู้ที่มีฐานะด้อยกว่าให้กว้างขวางขึ้น

 ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ระบบการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปเป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) ของอังกฤษยังมีจุดอ่อนที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์โจมตีอยู่หลายประการ และประมาณกันว่าพลเมืองชาย ๑ ใน ๑๐ คนเท่านั้นที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ กล่าวคือ เขตเลือกตั้งทั่วประเทศมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไปจำนวนผู้แทนในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในเขตนั้น ๆ เขตอุตสาหกรรมใหม่ที่ผู้คนจำนวนมากโยกย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่จนกลายเป็นเขตเมืองยังเป็นเขตที่ไม่มีสิทธิส่งผู้แทน เขตเลือกตั้งเก่าซึ่งมีคนอาศัยเบาบางอาจส่งผู้แทนได้มากกว่าเขตที่มีประชากรหนาแน่น และหลายเขตการเลือกผู้แทนขึ้นอยู่กับการชี้ขาดหรือการตัดสินใจของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ราย การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้อังกฤษปฏิรูประบบการเลือกตั้งได้ดำเนินมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ทั้งจากนักการเมืองหัวรุนแรงอย่างจอห์น วิลกส์ (John Wilkes) และนักการเมืองแนวอนุรักษนิยมอย่างวิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt, the Younger)* แต่กระแสการเรียกร้องลดลงเมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution, 1789)* ขึ้นเพราะชาวอังกฤษส่วนหนึ่งเห็นว่าการให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียงทางการเมืองอาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงอย่างที่เกิดในฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี หลัง ค.ศ. ๑๗๙๒ London Corresponding Society ซึ่งมีสมาชิกเป็นพวกช่างฝีมือหัวรุนแรง เช่น ทอมัส ฮาร์ดี (Thomas Hardy) ช่างทำรองเท้าก็ได้สืบต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปอีก

 เมื่อพวกวิก (Whig) จัดตั้งรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๓๐ ชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* นายกรัฐมนตรีก็ตัดสินใจที่จะปฏิรูประบบการเลือกตั้งเพื่อระงับการก่อความไม่สงบในเขตต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติอยู่แต่เฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ จอห์น รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ (John Russell, 1ˢᵗ Earl Russell)* ได้เสนอร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับแรกแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาพรรคทอรี (Tory) หลังการเลือกตั้งทั่วไปร่างกฎหมายฉบับที่ ๒ ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาสามัญแต่ถูกสภาขุนนาง (House of Lords) ปฏิเสธการจลาจลประท้วงจากผู้ที่ไม่พอใจจึงเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่บริสตอล (Bristol) เมื่อจะมีการเสนอร่างกฎหมายเป็นครั้งที่ ๓ เอิร์ลเกรย์จึงได้ทูลพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV)* ซึ่งไม่สบายพระทัยอยู่กับการที่เอิร์ลเกรย์จะลาออกและการเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในหมู่ประชาชนว่าให้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางสายจิกเพิ่มอีก ๕๐ คน หรือกว่านั้นเพื่อให้ร่างฉบับที่ ๓ สามารถผ่านสภาขุนนางได้เมื่อได้รับแรงกดดันเช่นนี้ สภาขุนนางจึงผ่านร่างฉบับที่ ๓ ในวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๒ เหล่าขุนนางที่เคยต่อต้านร่างกฎหมายพากันงดออกเสียง ทำให้ในที่สุดพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๘๓๒ จึงได้มีผลบังคับใช้

 ในบรรดากฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งของอังกฤษ ฉบับ ค.ศ. ๑๘๓๒ เป็นฉบับที่ได้รับการกล่าวถึงและก่อกระแสทั้งต่อต้านและสนับสนุนก่อนและหลังได้รับความเห็นชอบมากที่สุด มีการเรียกร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาว่าร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยกลางที่มีการปรับปรุงเขตเลือกตั้งและจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง เขตเลือกตั้งเก่าถูกยุบไป ๕๔ เขต และมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ๔๒ เขต เป็นการมอบจำนวนผู้แทนให้แก่เมืองอุตสาหกรรมทางภาคเหนือหรือเขตเมืองใหม่โดยการยกเลิกหรือลดจำนวนผู้แทนของเขตเลือกตั้งเน่า (rotten borough) ซึ่งมักอยู่ในชนบทและเขตเลือกตั้งกระเป๋า (pocket borough) ที่เจ้าของที่ดินรายใหญ่มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าสภาสามัญ เช่น เขตโอลด์แซรัม (Old Sarum) ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้เพียง ๗ ราย แต่สามารถส่งผู้แทนเข้าสภาสามัญได้จำนวน ๒ คนมาโดยตลอด ขณะที่เมืองอุตสาหกรรมอย่างเบอร์มิงแฮม (Birmingham) และแมนเชสเตอร์ (Manchester) กลับไม่มีผู้แทนแม้แต่คนเดียว มณฑลคอร์นวอลล์ (Cornwall) ซึ่งมีประชากรอยู่อาศัยเบาบางมากในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก็มีสิทธิส่งผู้แทนได้ถึง ๔๔ คน ในขณะที่เขตซิตีในกรุงลอนดอน (City of London) ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ คน มีสิทธิส่งผู้แทนได้เพียง ๔ คนเท่านั้น หลังร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ผ่านสภาเขตเลือกตั้งอย่างมณฑลคอร์นวอลล์ก็ถูกลดจำนวนผู้แทนลงเหลือ ๑๓ คน กฎหมายนี้ได้ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่ชายทุกคนที่ครอบครองที่อยู่อาศัยมูลค่า ๑๐ ปอนด์ต่อปีขึ้นไป แม้จำนวนผู้มีสิทธิจะเพิ่มขึ้นอีก ๒๑๗,๐๐๐ คน จากที่มีอยู่เดิม ๔๓๕,๐๐๐ คน และทำให้ประชากรชาย ๑ ใน ๕ คน (บ้างว่า ๑ ใน ๗ คน) มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจำกัดอยู่เพียงชนชั้นกลางระดับบน ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมแล้วกฎหมายนี้เท่ากับเปิดทางให้ชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศกับชนชั้นผู้ดีเก่าซึ่งบางคนว่าการโอนถ่ายอำนาจแม้เป็นเพียงบางส่วนก็เหมือนกับเกิดการปฏิวัตินวนิยายเรื่อง Middlemarch และเรื่อง Felix Holt, the Radical โดยแมรี แอนน์ อีแวนส์ (Mary Ann Evans) ซึ่งใช้นามปากกา จอร์จ เอเลียต (George Eliot) สะท้อนบรรยากาศในสังคมอังกฤษที่ปั่นป่วนอึมครึมทั้งก่อนและหลังกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเรื่องหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๘๓๒ โดยตรง

 การดำเนินการขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของพรรควิกให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้นหลังจากนั้นได้เลื่อนออกไปเรื่อย ๆ แม้จะมีกระแสเรียกร้องอย่างขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ก็ตาม จนกระทั่งรัสเซลล์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากเฮนรี จอห์น เทมเปิล ไวส์เคานต์พาล์เมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3ʳᵈ Viscount Palmerston)* แต่สมาชิกพรรคเสรีนิยมของรัสเซลล์เองกลับปฏิเสธที่จะสานต่อเรื่องนี้ การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับที่ ๒ จึงกลายเป็นผลงานของพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ซึ่งมีเอดเวิร์ด เฮนรี สแตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ ๑๕ (Edward Henry Stanley, 15ᵗʰ Earl of Derby)* เป็นผู้นำ แต่ผู้ที่ผลักดันคนสำคัญคือเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เห็นว่าไม่ควรชะลอการปฏิรูป การผ่านกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งอีกครั้งจะทำให้พรรคอนุรักษนิยมได้คะแนนนิยมจากประชาชนกลุ่มใหม่ที่จะได้สิทธิออกเสียงด้วย พระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งฉบับที่ ๒ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๘๖๗ ทำให้มีการกระจายจำนวนผู้แทนเพิ่มอีก ๔๕ คนไปยังแต่ละเขต จำนวนชนชั้นกลางที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญเพิ่มขึ้น ผู้ใช้แรงงานในเขตเมืองจำนวน ๙๓๘,๐๐๐ คนได้สิทธิออกเสียง ทำให้จำนวนผู้ชายในอังกฤษและเวลส์ที่สามารถใช้สิทธิได้ทั้งสิ้นมีประมาณ ๒ ล้านคน กฎหมายฉบับนี้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมเช่นกันแม้ไม่รุนแรงเท่ากับฉบับก่อน เห็นได้จากงานประพันธ์ของนักวิจารณ์สังคมคนสำคัญ ๒ ราย ได้แก่ แมตทิว อาร์โนลส์ (Matthew Arnolds) ซึ่งแต่งเรื่อง Culture and Anarchy และจอห์น รัสกิน (John Ruskin) เรื่อง The Crown of Wild Olive ทั้งคู่ตั้งคำถามว่าการขยายสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งลงไปครอบคลุมชนชั้นล่างจะนำไปสู่ประชาธิปไตยหรือทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามตั้งเดิมกันแน่ส่วนฉบับที่ ๓ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๘๘๔ ในสมัยที่วิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* ผู้นำพรรคเสรีนิยมเป็นนายกรัฐมนตรีกฎหมายฉบับนี้ทำให้แรงงานภาคเกษตรจำนวนประมาณ ๒ ล้านคนได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง จึงทำให้จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น ๕ ล้านคน

 แม้กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ๓ ฉบับที่กล่าวข้างต้นเป็นฉบับสำคัญ แต่ยังมีกฎหมายอื่น ๆ ที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบหลังจากนั้นซึ่งทำให้ระบบการเลือกตั้งของอังกฤษพัฒนาดังในปัจจุบัน ได้แก่ ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ มีการออกพระราชบัญญัติจัดสรรจำนวนผู้แทนในสภาสามัญ (Redistribution Act) จากเขตต่าง ๆ โดยต้องการกำหนดให้เขตเลือกตั้งมีขนาดใกล้เคียงกันทั่วทั้งประเทศ กล่าวคือ ผู้ออกเสียง ๕๐,๐๐๐ คนต่อเขตเลือกตั้ง ๑ เขตมีผู้แทนเพียงคนเดียว ต่อมา มีการออกกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๑๘ (Reform Act, 1918) ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ชายอังกฤษทุกคนได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งอันเนื่องมาจากการยกเลิกคุณสมบัติในการถือครองทรัพย์สินของผู้มีสิทธิออกเสียง ยังทำให้สตรีที่มีอายุตั้งแต่ ๓๐ ปี ขึ้นไปสามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับบุรุษ ผู้มีสิทธิทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก ๗.๗ ล้านคนเป็น ๒๑.๘ ล้านคน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มจำนวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๙๒๘ มีการออกพระราชบัญญัติความเสมอภาคในสิทธิเลือกตั้ง (Equal Franchise Act) โดยลดอายุของสตรีที่มีสิทธิเลือกตั้งให้เหลือ ๒๑ ปีขึ้นไป ทำให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับบุรุษ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๘ มีการออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน (Representation of the People Act, 1948) ซึ่งยกเลิกการให้สิทธิออกเสียงได้มากกว่า ๑ เสียง (plural voting) และการยกเลิกสิทธิของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศ ๑๒ แห่งในการส่งผู้แทนเข้าสภาสามัญ ซึ่งเท่ากับเป็นการวางหลักการ “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” (one person, one vote) และใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ได้มีการออกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน (Representation of the People Act, 1969) อีกฉบับลดอายุชั้นตํ่าของประชาชนที่จะใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนจากเดิม ๒๑ ปีเป็น ๑๘ ปี.



คำตั้ง
Reform Bills; Reform Acts
คำเทียบ
กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
คำสำคัญ
- กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๑๘
- กฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- เขตเลือกตั้งกระเป๋า
- เขตเลือกตั้งเน่า
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- พรรคทอรี
- พรรควิก
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พระราชบัญญัติการเลือกตั้งผู้แทนประชาชน
- พระราชบัญญัติความเสมอภาคในสิทธิเลือกตั้ง
- พิตต์, วิลเลียม
- รัสกิน, จอห์น
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
- อาร์โนลส์, แมตทิว
- ฮาร์ดี, ทอมัส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-